Last updated: 21 ต.ค. 2560 | 11942 จำนวนผู้เข้าชม |
เก้าห้อง หนองจิก นางงาม ฟื้นฟูความหลังครั้งรุ่งเรือง
ถนนหนองจิกเป็นถนนเก่าแก่สายเล็กๆ ใจกลางเมืองสงขลา มีมาก่อนการสร้างกำแพงเมืองสงขลาฝั่งบ่อยางในปี พ.ศ. ๒๓๗๙ สองข้างทางขึ้นมาจากทะเลสาบสงขลาเป็นชุมชนชาวจีนอพยพดั้งเดิม มีศาลเจ้าปุนเท่ากง หรือศาลเจ้าที่เมืองสงขลาอยู่ต้นถนนหันหน้าไปทางทิศใต้ และศาลเจ้าพ่อกวนอูอยู่สุดปลายถนน ซึ่งเป็นธรรมเนียมว่าบริเวณที่ชาวจีนอพยพก้าวขึ้นฝั่งเป็นจุดแรกจะเป็นที่ตั้งของศาลปุนเท่ากง เพื่อให้ผู้มาใหม่เซ่นไหว้สักการะเจ้าที่เจ้าทางขออนุญาตมาพักอาศัยทำมาหากินให้ชีวิตดีขึ้น เมื่อมีการสร้างกำแพงเมืองจึงเว้นที่ถนนนี้ทำเป็นประตูเมืองชื่อว่า ประตูศักดิ์สิทธิ์พิทักษ์ ต่อมามีการสร้างตึกแถวเก๋งจีนจำนวนเก้าห้องในถนนหนองจิกหน้าศาลเจ้าพ่อกวนอู และตัดถนนนางงาม จึงเรียกบริเวณแถบนี้ว่า “ย่านเก้าห้อง”
ส่วนถนนนางงามหรือถนนเก้าห้อง สันนิษฐานว่าตัดขึ้นหลังจากสร้างศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เพื่อเพิ่มทางสัญจรและขยายที่อยู่ของชาวจีนที่อพยพมาเพิ่มขึ้น เป็นที่ตั้งของศาลเจ้า ๓ ศาล คือ ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ศาลเจ้าพ่อกวนอู และศาลเจ้าตั้งเซ่งอ๋อง ถนนนางงามเป็นศูนย์กลางย่านอาหารพื้นเมืองของสงขลา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีอาหารหลากหลายให้เลือกรับประทาน เป็นที่รวมสาวงามตั้งแต่อดีต และมีเป็นที่เลื่องลือเมื่อคุณนงเยาว์ โพธิสาร (นามสกุลเดิม "บุญยะศิวะ") ชื่อเล่น "แดง" สาวเก้าห้องได้รับรางวัลจากการประกวดนางงามสงขลาปีแรกในงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๔๗๗
หลังตลาดยามเช้าและช่วงกลางวันที่คึกคักไปด้วยผู้คนมาจับจ่ายซี้ออาหารและเด็กนักเรียนที่มาเรียนในโรงเรียนจีนแล้ว ในยามค่ำคืนของยุคหลัง พ.ศ.๒๔๖๐ ถนนนางงาม หรือ ย่านเก้าห้อง เป็นที่รวมแหล่งบันเทิงแห่งยุคทั้งร้านน้ำชา วิกลิเก โรงแรม โรงยาฝิ่น ต่อมามีโรงหนังหลักเมืองมาเปิดให้บริการ ทำให้ชีวิตกลางคืนไม่เงียบเหงา