Last updated: 27 ก.ค. 2562 | 30516 จำนวนผู้เข้าชม |
กำแพงเมืองสงขลาเริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ.2379 เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) เจ้าเมืองสงขลาย้ายที่ตั้งเมืองสงขลาจากบริเวณบ้านแหลมสน ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร มาสร้างเมืองใหม่บริเวณตำบลบ่อยางในปัจจุบัน
เมืองสงขลาฝั่งบ่อยางมีภูมิประเทศเป็นแหลมทราย ชัยภูมิเป็นที่ราบ ไม่มีแนวภูเขาเป็นป้อมปราการเหมือนเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดงและเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน จึงจำเป็นต้องสร้างกำแพงเมือง ป้อมและประตู โดยสร้างเสร็จในปี พ.ศ.2385
กำแพงเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยหินศิลาแดงสอปูน สูง 5.5 เมตร หนา 4 เมตร ส่วนความด้านทิศเหนือ 400 เมตร ทิศใต้ยาว 500 เมตร ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกยาว 1,200 เมตร รวมทั้ง 4 ด้าน ยาวประมาณ 3,300 เมตร มีป้อม 8 ป้อม และ 10 ประตู โดยได้รับรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบจีน หินแดงซึ่งถือเป็นวัสดุหลักที่ใช้ในการก่อสร้างได้ขนย้ายมาจากเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดง บนกำแพงประดับประดาด้วยอิฐโบราณนำเข้าจากประเทศจีน
กำแพงเมืองสงขลาได้รับการซ่อมแซมมาโดยตลอด จนกระทั่งในสมัยเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ครั้งเมื่อเป็นพระวิจิตรวรสาสน์ ข้าหลวงพิเศษตรวจราชการเมืองสงขลา เมืองพัทลุง เมืองนครศรีธรรมราชและเป็นพระยาสุขุมนัยวินิต สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช (พ.ศ.2437 - 2448) ได้รื้อกำแพงเมืองส่วนใหญ่เพื่อขยายถนนและปรับปรุงตัวเมืองให้กว้างขวางมากขึ้น โดยใช้อิฐและหินจากการรื้อกำแพงส่วนใหญ่มาถมถนน จึงทำให้กำแพงที่เคยล้อมรอบเมืองยาวประมาณ 3,300 เมตร เหลือไม่ถึง 200 เมตร
ภาพเปรียบเทียบกำแพงและประตูเมืองในอดีตกับปัจจุบัน
โบราณสถานแห่งนี้ตั้งตระหง่านอยู่คู่เมืองสงขลามากว่า 177 ปี (พ.ศ.2385 - 2562) ปัจจุบันคงเหลือเพียงกำแพงบางส่วน และที่มีสภาพสมบูรณ์คือกำแพงด้านทิศเหนือบริเวณริมถนนจะนะ ซึ่งเหลือความยาวประมาณ 144 เมตร ที่นี่นับว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่หนึ่งที่ไม่ควรพลาด ใครแวะมาเมืองสงขลาขอแนะนำให้ได้มาชม มาระลึกนึกย้อนถึงการก่อสร้างบ้านเมืองในอดีตและมาถ่ายรูปคู่กับกำแพงเมืองสงขลา ยิ่งถ้ามาในวันศุกร์หรือวันเสาร์ ช่วงแดดร่มลมตกตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป จะเป็นช่วงเวลาที่สุดพิเศษเพราะนอกจากจะได้ชมความงามของกำแพงเมืองสงขลาแล้ว ยังจะได้ชิมของหรอยและชอปของเก๋ในถนนคนเดิน "สงขลาแต่แรก" ซึ่งจะอยู่เคียงคู่ขนานกับกำแพงเมืองสงขลาไปตลอดแนว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
ขอขอบคุณภาพแผนผังเมืองโบราณและภาพถ่ายมุมสูง จากหนังสือ สงขลา เมืองสองเล เสน่ห์เหนือกาลเวลา โดย สำนักงานเทศบาลนครสงขลา ถ่ายโดยคุณอิทธิพล ทองแป้น
ขอขอบคุณคุณครูจรัส จัทร์พรหมรัตน์ ที่เอื้อเฟื้อภาพกำแพงเมืองเก่า
เรียบเรียงและถ่ายภาพโดย คุณครูศิษฐวุฒ จันทรกรานต์ โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา
12 เม.ย 2562
28 ธ.ค. 2561