Last updated: 28 ก.ค. 2560 | 53056 จำนวนผู้เข้าชม |
โรงสีแดง หับ โห้ หิ้น โรงสีข้าวโบราณอายุกว่า 100 ปี
เมื่อปี พ.ศ.2457 รองอำมาตย์ตรีขุนราชกิจการี(จุ่น เลี่ยง ลิ้มเสาวพฤกษ์) เปิดกิจการโรงสีข้าว ที่บ้านเลขที่ 13 ถนนนครนอก ริมทะเลสาบสงขลาชื่อโรงสี "หับ โห้ หิ้น" ผู้คนเรียกว่าโรงสีแดง เพราะอาคารทั้งหลังทาด้วยสีแดง ช่วงเริ่มกิจการเป็นโรงสีข้าวขนาดเล็ก สั่งเครื่องจักรมอเตอร์ในการสีข้าวมาจากปีนัง มีคุณสุชาติ รัตนปราการเป็นผู้จัดการต่อมาเปลี่ยนมาใช้แกลบเป็นเชื่อเพลิงทำให้โรงสีเดินด้วยกำลังไอน้ำโดยสั่งเครื่องจักรมาจากอังกฤษ มีคนงาน 30 - 50 คน ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง มีการทำงานเป็นกะเป็นโรงสีขนาดใหญ่ และทันสมัยที่สุดในยุคนั้น รับสีข้าวจากพื้นที่ปลูกข้าวรอบทะเลสาบสงขลา สามารถผลิตข้าวสาร จำหน่ายแก่ประชาชนในสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอาทิ เปรัค และอีโป ในประเทศมาเลเซีย เป็นต้นในปี พ.ศ.2490 พื้นที่รอบนอกสงขลามีการสร้างโรงสีขนาดเล็ก ทำให้ข้าวเปลือกที่จะป้อนโรงสีลดลงจึงต้องยุติกิจการโรงสีข้าวมาทำกิจการโรงน้ำแข็งขนาดเล็กจำหน่ายในชุมชน และเปลี่ยนเป็นโกดังเก็บยางพาราสำหรับลำเลียงขนถ่ายไปยังเรือเดินสมุทร ซึ่งจอดอยู่ที่เกาะหนู เพื่อขนส่งไปยังต่างประเทศ และเมื่อมีท่าเรือนน้ำลึกสงขลา การขนส่งยางพาราด้วยเรือลำเลียงจึงต้องหยุดกิจการมาเป็นท่าเทียบเรือประมงขนาดเล็กแทน
วันเวลาล่วงผ่านมากว่า 100 ปี โรงสีแดงยังคงยืนเด่นเป็นสัญลักษณ์ของถนนนครนอกและเป็นเอกลักษณ์ของเมืองสงขลาไว้เฉกเช่นในอดีต เพราะทายาทรุ่นหลังของตระกูลได้ช่วยกันทำนุบำรุงอาคารโรงสี ทำการซ่อมแซมโครงสร้าง ส่วนประกอบอาคาร ตลอดจนทาสีภายนอกอาคารอย่างสม่ำเสมอ ทำให้สภาพอาคารและปล่องไฟโรงสีแดง ยังคงความสมบูรณ์อยู่ในสภาพเดิม สามารถรักษาคุณค่าทางสถาปัตยกรรม เอาไว้ได้เป็นอย่างดี จนได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี พ.ศ. 2554 ประเภทอาคารพาณิชย์จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
ปัจจุบันคุณรังสี รัตนปราการ เจ้าของโรงสีแดงรุ่นที่ 3 และประธานภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายพัฒนาให้โรงสีแดงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต เป็นอุทยานการเรียนรู้นครสงขลา เป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมของชุมชนมากมาย
เรื่องน่ารู้
“หับ โห้ หิ้น” เป็นภาษาจีนฮกเกี้ยน หมายถึง ความสามัคคี ความกลมเกลียว และความเจริญรุ่งเรือง