Last updated: 16 ก.พ. 2561 | 39813 จำนวนผู้เข้าชม |
ขอเชิญชวนชาวสงขลาและนักท่องเที่ยว มาสัมผัสกับทิวทัศน์เมืองสงขลาในมุมสูงจากยอดเขาตังกวน เขาสำคัญกลางเมืองสงขลา นอกจากจะได้ตื่นตากับวิวที่งดงามเกินจะบรรยายแล้ว ยังได้อิ่มใจไปกับโบราณสถานอันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองอีกด้วย
เขาตังกวนตั้งอยู่ในตัวเมืองสงขลาใกล้หาดสมิหลา ขึ้นเขาตังกวนทำได้ 2 ทาง
1. ขึ้นลิฟท์ที่สถานีลิฟท์เขาตังกวน ณ บริเวนถนนตัดระหว่างเขาตังกวนและเขาน้อย ค่าบริการ ผู้ใหญ่คนละ 30 บาท เด็ก 20 บาท โดยเปิดบริการในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 10.00-19.00 น. และ ในวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ 8.00-19.00 น.
2. เดินขึ้นทางบันไดพญานาค จำนวน 145 ขั้น ใครที่อยากซึมซับธรรมชาติได้ชมความงามระหว่างทาง และได้สุขภาพดีด้วยต้องห้ามพลาดการเดินขึ้นเขาทางบันไดพญานาค
ก่อนจะถึงยอดเขาตังกวน จะมีสถาปัตยกรรมที่สำคัญนั่นรอต้อนรับอยู่ นั่นคือ ศาลาพระวิหารแดง
ศาลาพระวิหารแดง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้สร้างพลับพลาที่ประทับนี้แต่ยังคงสร้างค้างอยู่ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2432 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสแหลมมลายูถึงเมืองสงขลา พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินขึ้นนมัสการพระเจดีย์บนยอดเขาตังกวน มีพระราชศรัทธาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาลาพระวิหารจนสำเร็จในเวลาต่อมา แล้วยังทรงพระราชดำริให้สร้างบันไดนาคขึ้นจาก พลับพลา สำเร็จเรียบร้อยในปี พ.ศ. 2440 ศาลาพระวิหารแดงเป็นอาคารโถงชั้นเดียวก่ออิฐถือปูน สร้างตามแบบอิทธิพลตะวันตก เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการเข้ามาติดต่อสัมพันธ์ระหว่างสยามกับตะวันตกในช่วงรัชกาลที่ 4-5
เมื่อมาถึงยอดเขาตังกวนจะได้พบกัน พระเจดีย์หลวง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในโบราณสถานที่สำคัญของเมืองสงขลา ตั้งโดดเด่นสูงสง่ามองเห็นได้จากทุกมุมเมือง พระเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงระฆัง สันนิษฐานว่าเป็น พระเจดีย์โบราณที่มีมานาน แต่ไม่ปรากฎหลักฐานความเป็นมาที่ชัดเจน จนต่อมาในปี พ.ศ.2402 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จพระราชดำเนินประพาสเมืองสงขลา หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2409 จึงได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินหลวง 37 ชั่งเศษ ให้เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ให้สูงใหญ่กว่าของเก่า และในครั้งนั้น เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) ได้สร้างคฤห์ไว้ที่ฐานพระเจดีย์ และต่อเติมเก๋งที่มุมกำแพง พระเจดีย์หลวงเป็นพระเจดีย์คู่บ้านคู่เมืองของสงขลา จึงมีการบูรณะซ่อม แซมมาโดยตลอด ในปีพ.ศ. 2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าพระราชทาน พระบรมสารีริกธาตุ และเครื่องสักการะบูชาประดิษฐานไว้ ณ พระเจดีย์หลวง เพื่อไว้เป็นที่สักการะบูชาของชาวเมืองสงขลาสืบต่อไป
เมื่อมาถึงพระเจดีย์หลวงแล้ว ต้องมาสักการะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อเสริมสิริมงคลแก่ชีวิต โดยจะเริ่มสักการะจากซุ้มหมายเลข 1 ถึง 6 ตามลำดับ เดินวนขวาตามเข็มนาฬิการอบองค์เจดีย์
ซุ้มที่ 1 พระสยามเทวาธิราช
ซุ้มที่ 2 พระพรหม
ซุ้มที่ 3 หลวงปู่ทวด วัดช้างให้
ซุ้มที่ 4 สมเด็จพระพุฒาจารย์โต และพระปรมาจารย์ทองเฒ่า วัดเขาอ้อ พัทลุง ตามหลวงเปรม วัดวิหารสูง พัทลุง
ซุ้มที่ 5 รัชกาลที่ 5
ซุ้มที่ 6 องค์พระพุทธชินราช และบูชาพระธาตุเจดีย์หลวง
อีกหนึ่งสถาปัตยกรรมสำคัญบนเขาตังกวน นั่นคือ ประภาคาร เป็นอาคารที่สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ.2439 ครั้งพระยาวิเชียรคีรี (ชม) เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา โดยสมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้โปรดให้ กรมทหารเรือทำเครื่องหมายประดับประกอบตัวโคมและส่งแบบฐานปูนให้ข้าหลวงออกมาจัดการก่อสร้างประภาคาร ตามพระราช ดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในบริเวณที่พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) และพระยาชลยุทธโยธินเป็นผู้ เลือกสถานที่ ประภาคารนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2440
ได้เวลาเดินชมความงานรอบเจดีย์และชมทิวทัศน์เมืองสงขลาแบบ 360 องศา แล้วอย่าลืมพากล้องมาเก็บภาพสวยๆ มาด้วยนะ
ใครที่ได้มาเยือนสงขลาไม่ควรพลาดที่จะแวะมาที่นี่เป็นอันขาด รับรองได้เลยว่าหากได้เที่ยวเขาตังกวนสักครั้ง คุณจะได้ตื่นตากับทิวทัศน์ที่งดงาม สถาปัตยกรรมที่เก่าแก่ทรงคุณค่า และอิ่มใจไปการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองสงขลาอย่างแน่นอน
ขอขอบคุณ รีวิวชวนมาเที่ยว "เขาตังกวน" โดย
นางสาวพรรษชล หัดประสม และนางสาวภูริชญา ภู่เพชร
นักเรียนชมรมสื่อสร้างสรรค์ โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา
ติดตามผลงานนักเรียนได้ทางเพจเสน่ห์สงขลา https://www.facebook.com/SongkhlaAttractions/
ชมวิดีโอรายการเสน่ห์สงขลา ตอนที่ 8 เสน่ห์เขาตังกวน
โดย ชมรมสื่อสร้างสรรค์ โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา
พิธีกร เด็กหญิงปัณณธร บัวเจริญ และเด็กหญิงศศิธร ศิลปสาย
ช่างภาพและตัดต่อ นางสาวพรรษชล หัดประสม, นางสาวคนิสรา สุวรรณฉัตร และนายชวนเจริญ ชูจินดา
และขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.paiduaykan.com/province/south/songkhla/tangkouan.html
http://www.archae.su.ac.th/art_in_south/index.php/collections/songkla/item/259-songkla-01.html
แผนที่เขาตังกวน Google Map