Last updated: 12 มี.ค. 2561 | 25458 จำนวนผู้เข้าชม |
ถนนและหนทางในตัวเมืองสงขลาส่วนใหญ่เรียกขานจากชื่อบ้านนามเมืองต่างๆ ส่วนน้อยที่ตั้งจากชื่อบุคคลสำคัญ นามสถาน เหตุการณ์ หรือบริบทแวดล้อมอื่นๆ
ที่ชัดเจนคือการตั้งจากชื่อเมืองใน “เจ็ดหัวเมืองปักษ์ใต้” อันหมายถึงชื่อเมืองต่างๆ ในภาคใต้ตอนล่าง ตามประวัติศาสตร์แผ่นดินสยามครั้งอดีต เมืองทั้ง ๗ นี้ เคยเป็นเมืองที่ขึ้นกับเมืองสงขลา อันได้แก่ ปัตตานี, ไทรบุรี, ยะลา, ยะหริ่ง, สายบุรี, ระแงะ และรามัน
ชื่อเมืองทั้ง ๗ นี้ เป็นที่มาของชื่อถนน ๗ สายในเมืองสงขลาปัจจุบัน และยังคงเป็นถนนสายสำคัญ มีบ้านเรือนร้านค้า รถราวิ่งกันขวักไขว่อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน โดยมี ๒ สาย ที่ชื่อแปลกเปลี่ยนไป คือถนนระแงะ เปลี่ยนเป็น ถนนนราธิวาส ส่วนรามัน เขียน รามัญ
ชื่อถนนที่น่าสนใจในบรรดา ๗ สายนี้ เห็นจะเป็น “ถนนรามัญ” ซึ่งหากดูจากการเขียนแล้ว จะพบคำ “รามัญ” นี้ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายว่า “น.มอญ” อันชวนให้นึกถึงพม่ารามัญเสียมากกว่าจะนึกถึงเมืองใน ๗ หัวเมืองปักษ์ใต้
เมื่อตรวจค้นจากเอกสารที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองสงขลา พบว่าคำนี้เขียนไว้หลายแบบ ได้แก่ รามัน รามันห์ รามานห์ และรามัญ แต่ที่ใช้มากที่สุด คือ “รามัญ” อันเป็นชื่ออำเภอหนึ่งในจังหวัดยะลาปัจจุบัน อย่างไรก็ตามชื่อ “ถนนรามัญ” ในเมืองสงขลา เขียนเช่นนี้มาแต่ก่อนร่อนชะไร ครั้นจะเปลี่ยนหรือไม่อย่างไร คงเป็นเรื่องที่ชาวบ้านย่านถนนรามัญ และผู้เกี่ยวข้องในเมืองสงขลาจะต้องว่ากันเอง
นอกจากถนนสายต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ยังมีถนนหนทางในเมืองสงขลาที่หายไป หรือเปลี่ยนชื่อเรียกไปหลายสาย เช่น ถนนเก้าห้อง เปลี่ยนเป็น ถนนนางงาม, ถนนระแงะ เปลี่ยนเป็น ถนนนราธิวาส เป็นต้น ส่วนถนนที่หายไป และเป็นถนนสายสำคัญในประวัติศาสตร์เมืองสงขลา ได้แก่
ถนนเทววิเชียรรัถยา หรือ ทเววิเชียรรัถยา ซึ่งปรากฏในพงศาวดารเมืองสงขลา ภาคที่ ๑ ฉบับพระยาวิเชียรคิรี (ชม) เรียบเรียง ความว่า “พระยาสงขลาแต่งตั้งให้หลวงยกกระบัตรคุมไพร่ ๓๐๐ คน ไปตั้งมั่นอยู่ที่ตำบลปลักแรด ในระหว่างเขาสำโรง และเขาลูกช้าง ซึ่งเดี๋ยวนี้เรียกว่า ทเววิเชียรรัถยา นั้นค่ายหนึ่ง”
ถนนเทววิเชียรรัถยานี้ เป็นหนทางจากแยกสำโรงไปถึงบ้านสวนตูล ต.เขารูปช้าง ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “หอวิเชียรเทวดำรง” อันเป็นที่ประดิษฐานแผ่นป้ายบูชาบรรพบุรุษของตระกูล ณ สงขลา และจารึกเกี่ยวกับการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานที่ดินบริเวณสวนตูลให้แก่พระยาวิเชียรคิรี (ชม) หอดังกล่าวนี้ ปัจจุบันอยู่ในบริเวณทางเข้าสวนสัตว์สงขลา
ส่วนชื่อถนนนั้น นักวิชาการมีความเห็นว่า น่าจะมีการบันทึกผิดพลาดไปบ้าง ในคำว่า “เทว” และ “ทเว” หากเป็นคำว่า “เทววิเชียรรัถยา” อาจหมายถึง “หนทางไปสู่หอแห่งเทวะ” หากเป็น “ทเววิเชียรรัถยา” อาจหมายถึง “หนทางที่พระยาวิเชียรคิรี ๒ ท่านสร้างขึ้น” โดยเทียบ “ทเว หมายถึง ทวิ หรือ ทวี"
ชื่อถนนที่หายไปอีกสายหนึ่งในเมืองสงขลา คือ “ถนนบ้านขาม” อันเป็นถนนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เคยเสด็จพระราชดำเนิน ครั้งเสด็จเมืองสงขลา พ.ศ. ๒๔๓๑ ปรากฏในบันทึก “ระยะทางประพาสแหลมมลายู ในรัชกาลที่ ๕” พระนิพนธ์ของกรมพระสมมต อมรพันธุ์ ทรงเรียบเรียงไว้เมื่อครั้งตามเสด็จ ความว่า
“เวลาบ่ายโมง ๑ เสด็จพระราชดำเนินขึ้นบกประดับที่ค่ายหลวงที่แหลมทราบเมืองสงขลา เวลาบ่าย ๒ โมงเศษ เสด็จพระราชดำเนินโดยทางชลมารค ไปขึ้นท่าน่าจวนเมืองสงขลา ทอดพระเนตรจวนเจ้าเมืองเก่า แลบ้านพระยาสงขลาที่ถึงแก่กรรม แล้วทรงพระราชดำเนินตามตลาดเลี้ยวตามถนนบ้านขาม แลวัดมัชฌิมาวาศ คือวัดกลาง ซึ่งเป็นวัดสงฆ์ธรรมยุติกา แล้วกลับลงทางตลาด”
นอกจากนี้ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๖ ร.ศ. ๑๒๘ พ.ศ. ๒๔๕๓ เรื่อง “ประกาศใช้พระราชบัญญัติ ศุขาภิบาล ในตำบลตลาดเมืองสงขลา มณฑลนครศรีธรรมราช” ปรากฏชื่อ ถนนนคร ถนนวิเชียรชม ถนนพัทลุง ถนนไทรบุรี ถนนริมน้ำ ถนนกลันตัน ถนนตรังกานู และถนนบ้านใหม่
จะเห็นได้ว่าในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๖ นี้ ชื่อถนนที่คงอยู่ในปัจจุบัน คือ ถนนวิเชียรชม ถนนพัทลุง และถนนไทรบุรี ส่วนถนนนคร อาจหมายถึง ถนนนครนอก หรือถนนนครใน
ถนนและหนทางเหล่านี้ หากได้มีการสอบค้น เรื่องราวความเป็นมาโดยละเอียดแล้ว จะได้ประโยชน์ต่อการเรียนรู้เรื่องราวของท้องถิ่นสงขลา เป็นอย่างยิ่ง
ขอขอบคุณบทความจาก อ.วุฒิชัย เพ็ชรสุวรรณ
นิตรสาร อบจ.สงขลา ฉบับเดือนสิงหาคม ๒๕๕๒
อ้างอิง
๑. เรื่องเที่ยวที่ต่างๆ ภาคที่ ๖ ระยะทางเสด็จประพาสแหลมมลายู ในรัชกาลที่ ๕
๒. สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้
๓. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๖ ร.ศ. ๑๒๘
อ่านเรื่องราว ถนนนางงามเพิ่มเติมได้ที่นี่ เก้าห้อง หนองจิก นางงาม ฟื้นฟูความหลังครั้งรุ่งเรือง
27 ก.ค. 2562
12 เม.ย 2562